วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2550

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ




สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ



ความเป็นมา

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 อนุมัติการจัดตั้ง “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ” ให้เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีระบบบริหารงานที่เป็นอิสระจากระบบราชการ โดยให้โอนเงินในส่วนของกองทุนพัฒนานวัตกรรมมาเป็นทุนประเดิมของสำนักงานฯ และในขณะเดียวกันให้บริหาร “เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี” ตามระเบียบกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พ.ศ. 2546
สำนักงานฯ ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ และมีภารกิจหลัก คือ การยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายวิสาหกิจและเครือข่ายวิชาการอย่างมีบูรณาการ อันจะนำไปสู่การสร้างให้เกิด “ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” ซึ่งนำไปสู่การยกระดับศักยภาพการแข่งขันเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้มีคำสั่งที่ 84/2546 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2546 จัดตั้ง “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ” ขึ้น โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูและของคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ ตามคำสั่งที่ 91/2546 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 และให้มีพันธกิจในการบริหารกองทุนพัฒนานวัตกรรมและเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีควบรวมไปพร้อมกัน ซึ่งตามเจตนารมณ์เดิมในการเสนอขอจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาตินั้น ต้องการที่จะยุบรวมกองทุนภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่มีพันธกิจสอดคล้องกันเข้าด้วยกันคือ “กองทุนพัฒนานวัตกรรม” และ “เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี” แต่เนื่องจากกองทุนพัฒนานวัตกรรมจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ขณะที่เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง การรวมกองทุนทั้งสองเข้าด้วยกันในขณะนี้ จึงไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมาย
ในระยะเวลาก่อนการปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาตินั้น “กองทุนพัฒนานวัตกรรม” ซึ่งได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2541 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการรัฐมนตรีว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจและคณะกรรมการปรับโครงสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และได้รับการจัดสรรเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (SAL) เพื่อใช้เป็นทุนประเดิมในการจัดตั้งสำนักงานจำนวน 100 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2542 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบและแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนานวัตกรรมให้มีหน้าที่เสนอแนะนโยบายและมาตรการการพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนริเริ่ม เร่งรัด กำกับการอนุมัติโครงการนวัตกรรม และได้จัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนานวัตกรรม” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแกนกลางในระดับปฏิบัติในการประสานงานและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนผลักดันการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ โดยให้มีกลไกการบริหารกองทุนที่เป็นอิสระ ทั้งนี้คณะกรรมการปรับโครงสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้เห็นชอบให้กองทุนพัฒนานวัตกรรมดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 เป็นการชั่วคราวก่อน และให้ใช้ระเบียบข้อบังคับของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (ชื่อในขณะนั้น) เป็นแนวทางการดำเนินงาน


ผังการจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ





คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนานวัตกรรมได้จัดทำแผนการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2544-2549) ในกรอบวงเงินงบประมาณ 1,420 ล้านบาท ซึ่งแผนการดำเนินงานฯ ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนานวัตกรรม และคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และได้เริ่มดำเนินงานตามแผนฯ นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 เป็นต้นมา โดยแผนการดำเนินงานดังกล่าวได้มุ่งให้เป็นแผนการดำเนินงานที่มีพลวัตสูง และมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดระบบนวัตกรรมแห่งชาติในเชิงปฏิบัติ ทั้งนี้ในการดำเนินงานตามแผนมีวัตถุประสงค์3ประการดังนี้
1.ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมในหน่วยเศรษฐกิจของประเทศ2.สร้างบรรยากาศเพื่อส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมนวัตกรรม3.สร้างองค์กรให้มีความเข้มแข็งด้านการดำเนินงานนวัตกรรม กองทุนพัฒนานวัตกรรมได้ดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543-2546) ได้พยายามสร้างกลไกและกรอบการทำงานที่ชัดเจน จึงทำให้สามารถดำเนินงานได้ตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมายในระดับหนึ่ง โดยได้ให้การสนับสนุนด้านวิชาการและด้านเงินแก่โครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ใน 5 สาขา ได้แก่ อาหารและสมุนไพร ยาง ผลิตภัณฑ์ยาง และไม้ยางพารา ซอฟต์แวร์และแมคาทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และการออกแบบเชิงวิศวกรรมและเชิงอุตสาหกรรม รวมทั้งโครงการนวัตกรรมจากผลงานวิจัยและสิทธิบัตร จำนวนทั้งสิ้น 20 โครงการ และได้สนับสนุนโครงการนวัตกรรมประเภทเงินอุดหนุนแบบต้องชำระคืนไปแล้วทั้งสิ้น 31.72 ล้านบาท ประเภทเงินอุดหนุนพิเศษ (เงินให้เปล่า) 1.17 ล้านบาท สนับสนุนรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย 1.5 ล้านบาท และร่วมมือในโครงการประกวดผลงานนวัตกรรมในภาคธุรกิจ รวมทั้งการจัดฝึกอบรมสัมมนาและพัฒนาความใฝ่รู้โดยเป็นแกนกลางในการพัฒนาหลักสูตร “การจัดการนวัตกรรมสำหรับผู้บริหาร” (Innovaiton Management Course for Executives: IMEs)สำหรับ “เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2527 เห็นชอบในหลักการที่จะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต และเพิ่มมูลค่าสินค้า ในปี พ.ศ. 2528 กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน (ชื่อในขณะนั้น) จึงได้จัดตั้ง “เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี”ตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และดำเนินงานอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนในการส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงาน ของรัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ในการทำวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อเพิ่มและรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและการเผยแพร่ผลของการวิจัยและพัฒนาดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่การพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม และได้ดำเนินมาตรการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมโดยใช้กลไกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ทั้งนี้ เงินทุนหมุนเวียนฯ ได้รับงบประมาณจากกระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2528-2538 รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 355 ล้านบาท โดยได้ให้การสนับสนุนภาคเอกชนในรูปแบบของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนรวมทั้งสิ้น 49 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวม 486,585,737 บาท
สนช. มีกรอบภารกิจในการบริหารกองทุนพัฒนานวัตกรรม และเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี โดยมีพันธกิจในการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้
o ยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยการวิเคราะห์และประเมินสถานภาพของอุตสาหกรรมและศักยภาพของนวัตกรรม ตลอดจนการแสวงหาและพัฒนานวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
o เชื่อมโยงเครือข่ายวิสาหกิจอย่างมีบูรณาการ โดยให้การสนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการและการเงิน และเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรในการดำเนินงานทั้งในระดับนโยบาย และปฏิบัติ อันจะนำไปสู่การสร้างให้เกิด “ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” ขึ้นโดยเร็ว
o สนับสนุนด้านวิชาการและการเงิน เพื่อช่วยการพัฒนาโครงการในระยะหลังการวิจัย และพัฒนา หรือการต่อยอดจากงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์สู่เชิงพาณิชย์ ได้แก่ การสนับสนุนการจัดทำต้นแบบโรงงานนำร่อง การทดสอบในกระบวนการผลิตจริง การวิเคราะห์และประเมินทางการตลาด และการจัดทำแผนธุรกิจ เป็นต้น
o สนับสนุนการยกระดับทักษะความสามารถด้านเทคนิคและการบริหารจัดการ ได้แก่ การจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญ การจัดการประชุมและสัมมนา และการพัฒนาความใฝ่รู้
o ส่งเสริมเพื่อสร้างความตื่นตัวด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมนวัตกรรมทั้งในระดับอุตสาหกรรม ระดับองค์กร และระดับประชาชนทั่วไป
o บริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตามระเบียบกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พ.ศ. 2546



วิสัยทัศน์



"องค์กรนำในการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อความสามารถในการแข่งขัน"
โครงสร้างองค์กร







กลยุทธ




แผนหลักที่ 1 ยกระดับนวัตกรรม
สนช. ได้ดำเนินงานเพื่อยกระดับนวัตกรรมของประเทศให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดย การประสานองค์ความรู้ (connecting knowledge) และการบริหารจัดการความรู้ (knowledge management) ที่มีเป้าหมายชัดเจน ทั้งในด้านวิชาการ การเงินการลงทุน การผลิต และการตลาด โดยผนวกกับการใช้กลไกการสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการและการเงินเพื่อเข้าร่วมรับความเสี่ยงของ การพัฒนานวัตกรรมในระดับการลงทุนเชิงธุรกิจ การที่ สนช. สามารถพัฒนาโครงการนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและขยายผลในเชิงกว้างได้อย่างรวดเร็วนั้น เกิดจากการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเกื้อกูล สนับสนุนและ เอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกันในรูปแบบของเครือข่ายพันธมิตร ในการประสานความร่วมมือทั้ง ทางด้านวิชาการ ด้านการเงิน และด้านการผลิต เพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้ไปสู่การลงทุนในเชิงธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างครบวงจร ขณะนี้ สนช. ได้ร่วมลงนามในบันทึกตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภายใต้โครงการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (UBICO) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) และ Senior Experten Service ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นต้น สำหรับเครือข่ายพันธมิตรด้านการเงิน สนช. ได้ร่วมมือกับสถาบันการเงิน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการ“นวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย” สำหรับเครือข่ายด้านการผลิต สนช. มีความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในด้านการพัฒนานวัตกรรมให้กับสมาชิกของ ส.อ.ท นอกจากนี้ สนช. ยังได้ริเริ่มและสนับสนุน ให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมด้านนวัตกรรม ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย และชมรมพลาสติกชีวภาพแห่งประเทศไทย เป็นต้น

แผนหลักที่ 2 ส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม
สนช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม และส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศนวัตกรรมขึ้นภายในประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องถึงการพัฒนานวัตกรรมโดยรวม สนช. จึงได้กำหนดให้ “แผนส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม” เป็นหนึ่งในสามของแผนหลักในการดำเนินงาน และได้ดำเนินการแผยแพร่ผลงานและตัวอย่างความสำเร็จด้านนวัตกรรมทั้งในรูปแบบของสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การประชาสัมพันธ์ การให้รางวัลนวัตกรรม รวมถึงการจัดประชุมและสัมมนาเพื่อพัฒนาความใฝ่รู้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวด้านนวัตกรรมนาภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคประชาชน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว ได้แก่
การจัดประชุมระดับนานาชาติและนิทรรศการด้านการจัดการนวัตกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (InnovAsia 2005)
การประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2548
การฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการนวัตกรรมสำหรับผู้บริหาร (Innovation Management Course for Executives: IME)
การจัดประชุมและสัมมนา อาทิ Innovative Industry Initiative (I3) Forum การสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้กับบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
สิ่งพิมพ์เผยแพร่ อาทิ หนังสือ แผ่นพับ และการจัดทำเว็บไซต์เพื่อประชาสัมพันธ์งานต่างๆ


แผนหลักที่ 3 สร้างองค์กรและระบบนวัตกรรม
ปัจจุบันสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จะทำงานในภาคการผลิต ณ จุดใดจุดหนึ่งที่มีศักยภาพและความพร้อมในการเกิดนวัตกรรม โดยอาศัยการจัดการความรู้ (knowledge management) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเกิดความคิดสร้างสรรค์ (creativity) อันเป็นจุดเริ่มต้นในการนำไปสู่ การเกิดนวัตกรรม ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะเกิดนวัตกรรมขึ้นได้เป็นจำนวนมากนั้น จำเป็นต้องสร้างระบบการสนับสนุนนวัตกรรมที่เพียงพอ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการนำไปสู่การเกิดระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation System:NIS)ขึ้นในอนาคต ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า เป้าหมายรวมของการพัฒนานวัตกรรมจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมาย ในระดับนโยบายของรัฐบาล คือการมุ่งเน้นที่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศ ในลักษณะของการก้าวกระโดด (leapfrogging) โดยเชื่อมโยงผลิตภาพ เครือข่ายวิสาหกิจกับนวัตกรรมเข้าด้วยกันเพื่อก่อให้เกิดการประสานพลัง (synergy) โดย สนช. ได้ริเริ่มการดำเนินงานในลักษณะ ดังกล่าวผ่านโครงการบริการแสวงหานวัตกรรม (Innovation Acquisition Service: IAS) โครงการเมธีส่งเสริมนวัตกรรม (Innovation Ambassador) และการสร้างเครือข่ายต่างๆ ผ่านการประสานงาน อย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวง กรมต่างๆ เพื่อสร้างแรงขับดันในระบบนวัตกรรมให้มีพลังอย่างต่อเนื่องอันจะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่การมีระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (innovation driven economy) ได้อย่างแท้จริง กลยุทธ์ “นวัตกรรม” เป็นการดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ ของประเทศอย่างรวดเร็ว โดยการเชื่อมโยงองค์ความรู้และภูมิปัญญาของประเทศ โดยเฉพาะจากผลงานวิจัยและพัฒนาที่หน่วยงานวิจัยของรัฐ และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้สามารถนำมาต่อยอดและ ขยายผลให้เกิดการลงทุนทางธุรกิจในระดับอุตสาหกรรมหรือในเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว “เมธีส่งเสริมนวัตกรรม” จึงเปรียบเสมือน “ทูตแห่งปัญญา” ที่จะมีบทบาทและภารกิจสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และวิทยาการใหม่ๆ ที่ก้าวหน้า ไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาค การผลิตที่สำคัญของประเทศ อันจะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเกิดการลงทุนใน “ธุรกิจฐานความรู้” และสร้างโอกาสให้สามารถก้าวสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีศักยภาพ
การกำหนดยุทธศาสตร์การยกระดับนวัตกรรมของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้อาศัยการ “คิดนอกกรอบ” บนฐานของการ “จัดการองค์ความรู้” โดยการวิเคราะห์สถานการณ์ทางเทคโนโลยีของโลก การคาดการณ์แนวโน้ม จุดแกร่ง ความท้าทาย และการกำหนดภาพอนาคตที่เป็นไปได้สำหรับประเทศไทย สนช. จึงได้ริเริ่มกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ใหม่ในการดำเนินงานและสร้างความแตกต่างทั้งกระบวนการดำเนินงานและบทบาทหน้าที่ขององค์กร โดยเน้นการนำนวัตกรรมเข้าไปแทรกเสริม (intervene) ในเครือข่ายวิสาหกิจ (innovation on cluster platform) ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานวิจัย ภาคการผลิต การตลาด และภาคสภาบันการเงินการลงทุน อันจะเป็นการสร้างศักยภาพ ความชำนาญ และเอกลักษณ์ของสำนักงานฯ ที่ชัดเจน และความพร้อมในการเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมระบบนวัตกรรมของประเทศ

ปัจจุบัน สนช. ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ใน 3 สาขา ได้แก่
o ธุรกิจชีวภาพ
o พลังงานและสิ่งแวดล้อม
o การออกแบบการสร้างตราสินค้า
1. ธุรกิจชีวภาพ(Bio-Business) ในการพัฒนาโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้านธุรกิจชีวภาพนั้น สนช. ได้ทำการวิเคราะห์สถานภาพทางธุรกิจชีวภาพของประเทศไทยในปัจจุบันและศักยภาพ ความจำเป็นและการเจริญเติบโตในอนาคตแล้ว จึงได้ทำการแบ่งการพัฒนาด้านธุรกิจชีวภาพออกเป็น 3 ส่วน คือ
1.1เทคโนโลยีชีวภาพ(Biotechnology) จากกรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทย พ.ศ. 2547–2554 ได้กำหนดยุทธศาสตร์การสร้างบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกิดใหม่อีกไม่น้อยกว่า 100 บริษัท มีการลงทุนรวมไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศปีละไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท สนช. จึงกำหนดแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับกรอบนโยบายระดับประเทศดังกล่าว โดยมุ่งเป้าไปที่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น เกษตรอินทรีย์ (organic Farming) โปรไบโอติค (pro–biotic) เอนไซน์เทคโนโลยี (enzyme technology) ชุดตรวจวินิจฉัยโรค (test kit) ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว (rice product) เป็นต้น เพื่อให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ









1.2วัสดุชีวภาพ (Bio–Based Materials)
กระแสความตื่นตัวด้านสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการนำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความจำเป็นในการสร้างนวัตกรรมด้านวัสดุชีวภาพ ที่สามารถย่อยสลายได้ภายในเวลาที่รวดเร็ว เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร อิเล็กทรอนิค หรือชิ้นส่วนยานยนต์ ดังจะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างที่สภาสหภาพยุโรปได้ลงนามในข้อบังคับสำหรับสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2543 กำหนดให้ผู้ส่งออกรถยนต์ไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต้องใช้วัสดุที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ (reuse) สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ (recycle) และสามารถนำมาฟื้นฟูได้ (recovery) ในสัดส่วนร้อยละ 85 ของรถทั้งคัน ภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 และในสัดส่วนร้อยละ 95 ภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558การกำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้เป็น Technical–Barrier–To–Trade หรือ Non-tariff-barrier (NTB) อย่างหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกยานยนต์ไปยังสหภาพยุโรปย่อมต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สนช. ได้เล็งเห็นปัญหานี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และได้รับร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของโลกอย่างเช่น บริษัท ดูปองท์ จำกัด ในสหรัฐอเมริกา ในการพัฒนาวัสดุชีวภาพ อาทิ Bio–PDO, Bio–Protein, Bio–Refinery หรือความร่วมมือกับบริษัท BASF ในเยอรมัน บริษัท Metabolix ในสหรัฐอเมริกา และบริษัท มิตซุยเคมิคัล ในญี่ปุ่น ในการพัฒนาพลาสติกชีวภาพเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนวัสดุตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป








1.3ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (NaturalProducts) ประเทศไทยมีความได้เปรียบเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ จึงทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเพาะปลูก ผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดสมุนไพรไปแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศอื่นๆ ประกอบกับแนวโน้มความตื่นตัวของผู้บริโภคทั่วโลกในการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยา โดยเฉพาะตลาดยาสมุนไพร จากโอกาสและความเป็นไปได้ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมากนี้ สนช. จึงมีแผนการดำเนินงานในการพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bio–Active compounds) จากสมุนไพร และจากผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ เช่น ผงไหม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศทั้งระดับรากหญ้าและระดับอุตสาหกรรม



พลังงานและสิ่งแวดล้อม (Energy and Environment)
ประเทศไทยมีการใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 14 ของ GDP ของประเทศโดยมีปริมาณการใช้ทั้งหมดเทียบเท่าการใช้น้ำมันดิบ 52,979 พันตัน พลังงานส่วนใหญ่ที่ใช้นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศปีละกว่า 300,000 ล้านบาท และมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้จะทำให้ประเทศขาดความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการใช้พลังงานทดแทน แต่ยังไม่มีการนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้นจะเป็นการเพิ่มเสถียรภาพด้านพลังงานให้กับประเทศเป้าหมายการพัฒนาโครงการยุทธศาสตร์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของ สนช. มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานทดแทนและการสร้างทางเลือกพลังงาน (diversification) รวมทั้งพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (renewable) ในทุกสาขาพลังงาน ขณะเดียวกันปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีนวัตกรรมทั้งเชิงเทคโนโลยีและการบริหารจัดการอย่างสม่ำเสมอด้วย โดยเฉพาะขยะซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์โดยตรง แนวทางการพัฒนาโครงการนวัตกรรมนอกจากจะใช้วิธีการลดและคัดแยกขยะต่างๆ แล้ว ยังรวมถึงการเปลี่ยนขยะไปเป็นประโยชน์ผ่านการนำขยะที่คงรูปย่อยสลายได้ยาก เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก ไปผ่านกระบวนการผลิตออกมาเป้นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ (recycle) หรือการนำสิ่งของที่ยังพอแก้ไขได้มาซ่อมแซมให้สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ (repair) เป็นต้น
การออกแบบการสร้างตราสินค้า (Design and Branding)
การออกแบบและการสร้างตราสินค้านับเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ดังที่ศูนย์การออกแบบแห่งฮ่องกง (Hong Kong Design Center) ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า นวัตกรรมและการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ไม่ได้หมายเพียงถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอย่างมากด้วย การออกแบบในความหมายของ สนช. หมายถึงการออกแบบที่เป็นกระบวนการประสานองค์ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันแล้วพัฒนาออกมาเป็นนวัตกรรมในท้ายสุด ซึ่งนำไปสู่การสร้างตราสินค้าใหม่นั้นเอง การออกแบบจึงเกี่ยวพันทั้งเทคโนโลยี วัฒนธรรม และการจัดการ อันเป็นการบูรณาการองค์ประกอบที่เหมาะสมเข้าด้วยกันในการพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยมีความโดดเด่นในเรื่องของวัฒนธรรมมาก การส่งเสริมให้มีการออกแบบที่สอดคล้องกับมิติของวัฒนธรรมอย่างกลมกลืนจะเป็นการสร้างคุณค่า (value) ใหม่ให้แก่ประเทศ สนช. จึงมีแผนงานการออกแบบการสร้างตราสินค้า เช่นการสร้างตราสินค้าเซรามิค “ศิละลำปาง” สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิคจังหวัดลำปาง การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา เป็นต้น




ผลการดำเนินงาน



1. โครงการข้าวกล้องงอก GABA-rice
เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตระดับประเทศ สำหรับการผลิตข้าวกล้องหอมมะลิที่มีปริมาณสาร GABA สูง ซึ่งเป็นผลจากการนำข้าวกล้องมาผ่านกระบวนการงอก (germinate) ทำให้เกิดกระบวนการ decarboxylation ของกรดกูลตามิกเกิดเป็น (GABA) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็น neurotransmitter ในระบบประสาท นอกจากนี้ยังทำให้ข้าวกล้องงอกมีเนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่มขึ้น






2. โครงการวิเคราะห์เชิงลึกการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย
เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านการสร้างรูปแบบนวัตกรรมด้านเกษตรอินทรีย์โดยอ้างอิงจากหลักวิชาการโดยเฉพาะการเปรียบเทียบทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพของการทำเกษตรอินทรีย์เทียบกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมเพื่อยืนยันกลยุทธ์ระดับชาติด้านเกษตรอินทรีย์





3. โครงการแป้งเด็กจากแป้งข้าวเจ้า
เป็นนวัตกรรมด้านกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ระดับโลก สำหรับผลิตภัณฑ์แป้งทาตัวเด็ก ที่สามารถนำแป้งข้าวเจ้ามาใช้ทดแทนทัลคัม (talcum) และแป้งข้าวโพด โดยการนำแป้งข้าวบริสุทธิ์มาดัดแปรทางเคมี ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการฆ่าเชื้อด้วยวิธีสเตอรีไรเซชั่น และเทคโนยีการบดละเอียด ทำให้แป้งข้าวจ้าวดัดแปรมีคุณสมบัติ มีความละเอียดสูงให้ความรู้สึกลื่นเรียบเนียน ป้องกันความชื้น ดูดซับความมันได้ดี และมีปริมาณเชื้อจุลินทรีย์อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด


4. โครงการนวัตกรรมชุดตรวจสอบสารปฏิชีวนะตกค้างในน้ำนม
เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ระดับองค์กร ของชุดทดสอบหายาปฏิชีวนะตกค้างในน้ำนมดิบ ซึ่งเป็นชุดทดสอบตรวจหายาปฏิชีวนะตกค้างในน้ำนมโดยใช้วิธีการทางจุลชีววิทยา โดยใช้เชื้อแบคทีเรีย Bacillus stearothermophilus มาเป็นตัวทดสอบ ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษเจริญได้ดีที่ 64 +/- 2 C (ซึ่งแบคทีเรียทั่วไปไม่สามารถเจริญได้ ) ในอาหารเลี้ยงเชื้อพิเศษชนิดของเหลว โดยมี Bromcresal purple เป็นตัวชี้วัด ซึ่งมีความไวและความจำเพาะต่อยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆใกล้เคียงกับชุดทดสอบจากต่างประเทศ ในการอ่านผลการตรวจสอบมีประสิทธิภาพที่ชัดเจนกว่าอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดแข็งที่ใช้กันทั่วไป นอกจากนี้สูตรของอาหารเลี้ยงเชื้อเป็นสูตรพิเศษ ที่ทำให้สปอร์ของเชื้อที่ใช้ทดสอบมีชีวิตอยู่ได้นาน ลดปัญหาการตายของเชื้อและการเกิดผลบวกเทียม


5 .โครงการการผลิตเอนไซม์ปาเปนจากมะละกอสำหรับผลิตภัณฑ์สปาและเครื่องสำอาง
เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านกระบวนการผลิตเอนไซม์ปาเปนในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยอาศัยการสกัดเอนไซม์ปาเปนจากมะละกอ ด้วยสารละลายเอธานอล 95% แล้วจึงนำปั่นเหวี่ยงเพื่อแยกปาเปนออกมา ทั้งนี้ เอนไซม์ปาเปนที่สกัดได้จะถูกนำไปเชื่อมต่อกับพอลิเมอร์ชนิดพีวีเอ็ม-เอ็มเอ poly (methylvinylether/maleic Anhydride Copolymer; PVM-MA polymer) โดยใช้อาร์จินีนเป็นตัวเชื่อม เพื่อสร้างความเสถียรให้แก่เอนไซม์ ซึ่งเอนไซม์ที่ได้จะมีความเสถียรและสามารถเก็บรักษาได้เป็นระยะเวลานาน เหมาะสำหรับการนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

6. โครงการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ถ่วงล้อ 2 ชั้น
เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์วัสดุถ่วงล้อ 2 ชั้นรายแรกของโลก โดยชั้นในเป็นแกนเหล็ก ชั้นนอกเป็นหุ้มด้วยพลาสติก ซึ่งอาศัยการออกแบบสร้างแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกแบบต่อเชื่อมโลหะที่มีกลไกการเคลื่อนตำแหน่งของอุปกรณ์จับงานเพื่อยึดแกนเหล็กและปล่อยออกขณะที่มีการฉีดพลาสติกเพื่อสร้างชั้นพลาสติกหุ้มแกนเหล็ก







7. โครงการต้นแบบอุปกรณ์กรองอากาศขนาดเล็ก
เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ระดับประเทศ ของอุปกรณ์กรองอากาศขนาดเล็ก ได้พัฒนาจากสิทธิบัตรเลขที่ 19693 การออกแบบผลิตภัณฑ์อุปกรณ์เครื่องกรองอากาศ ซึ่งประกอบด้วยแผ่นกรองชนิดต่างๆที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กและสารระเหยชนิดต่างๆที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ สะดวกในการใช้งาน ง่ายต่อพกพาไปใช้ตามสถานที่ต่างๆ และสามารถพูดคุยขณะสวมใส่ได้




8. โครงการการพัฒนาเครื่องยนต์สี่จังหวะอเนกประสงค์ขนาดเล็ก
เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมระดับประเทศของเครื่องยนต์ 4 จังหวะขนาดเล็ก 600 CC. แบบสูบเดียว ระบายความร้อนด้วยน้ำแบบใช้คาร์บูเรเตอร์ โดยมีการออกแบบฝาสูบและเสื้อสูบใหม่ให้มีขนาดความจุกระบอกสูบสูงสุด 600 CC. และสามารถประกอบเป็นเครื่องยนต์ที่มีความจุสูงขึ้นได้ถึง 3,000 CC.




9. โครงการสร้างต้นแบบเครื่องกัดโลหะความเร็วสูงแบบ 5 แกน สำหรับอุตสาหกรรมผลิตแม่พิมพ์โลหะ
เป็นเครื่องกัดโลหะความเร็วสูง ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ แบบ 5 แกน ขนาดประหยัด ยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศการทำงานเป็นแบบ 3 หรือ 5 แกน โดยมีการใช้โครงสร้างหลักร่วมกัน(single platform) โดยอาศัยเทคนิคการออกแบบและพัฒนาเครื่องกัดโลหะความเร็วสูง (High speed CNC) ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ แบบ 5 แกน ขนาดเล็ก สำหรับอุตสาหกรรมผลิตแม่พิมพ์ขึ้นรูปพลาสติกและโลหะ(MOLDS&DIES) ในประเทศ คาดว่าเมื่อขยายผลสู่เชิงพาณิชย์แล้วจะตั้งราคาขายอยู่ที่ 50% ของราคาเครื่องจากสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น






สรุป

นวัตกรรมมีรากศัพท์มาจากคำว่า “Innovare” ภาษาละตินซึ่งแปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมาความหมายของนวัตกรรม เป็นการนำเอาวิธีการใหม่ มาปฏิบัติหลังจากที่ได้ผ่านการทดลองและได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับแล้ว และมีความแตกต่างจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมานวัตกรรมไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไป แต่จะเป็นการปรับปรุงเสริมแต่งและพัฒนาเพื่อความอยู่รอดของระบบ
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 อนุมัติการจัดตั้ง “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ” ให้เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้มีคำสั่งที่ 84/2546 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2546 จัดตั้ง “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ” ขึ้น โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูและของคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ ตามคำสั่งที่ 91/2546 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 และให้มีพันธกิจในการบริหารกองทุนพัฒนานวัตกรรมและเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีควบรวมไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ในการดำเนินงานตามแผนมีวัตถุประสงค์3ประการดังนี้
1.ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมในหน่วยเศรษฐกิจของประเทศ2.สร้างบรรยากาศเพื่อส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมนวัตกรรม3.สร้างองค์กรให้มีความเข้มแข็งด้านการดำเนินงานนวัตกรรม
การสนับสนุนด้านวิชาการและด้านเงินแก่โครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ใน 5 สาขา ได้แก่
1. อาหารและสมุนไพร
2. ยาง ผลิตภัณฑ์ยาง และไม้ยางพารา
3. ซอฟต์แวร์และแมคาทรอนิกส์
4. ยานยนต์และชิ้นส่วน
5. การออกแบบเชิงวิศวกรรมและเชิงอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน สนช. ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ใน 3 สาขา ได้แก่
o ธุรกิจชีวภาพ
ธุรกิจชีวภาพ (Bio-Business)
วัสดุชีวภาพ (Bio–Based Materials)
ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (NaturalProducts)
o พลังงานและสิ่งแวดล้อม
o การออกแบบการสร้างตราสินค้า

ผลการดำเนินงาน
1. โครงการข้าวกล้องงอก GABA-rice
2. โครงการวิเคราะห์เชิงลึกการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย
3. โครงการแป้งเด็กจากแป้งข้าวเจ้า
4. โครงการนวัตกรรมชุดตรวจสอบสารปฏิชีวนะตกค้างในน้ำนม
5 .โครงการการผลิตเอนไซม์ปาเปนจากมะละกอสำหรับผลิตภัณฑ์สปาและเครื่องสำอาง
6. โครงการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ถ่วงล้อ 2 ชั้น
7. โครงการต้นแบบอุปกรณ์กรองอากาศขนาดเล็ก
8. โครงการการพัฒนาเครื่องยนต์สี่จังหวะอเนกประสงค์ขนาดเล็ก
9. โครงการสร้างต้นแบบเครื่องกัดโลหะความเร็วสูงแบบ 5 แกน สำหรับอุตสาหกรรมผลิตแม่พิมพ์โลหะ













ไม่มีความคิดเห็น: